เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้เราสามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดแก่คุณได้ ข้อมูลคุกกี้จะถูกเก็บไว้ในเบราว์เซอร์ของคุณและทำหน้าที่ต่างๆ เช่น การจดจำคุณเมื่อคุณกลับมาที่เว็บไซต์ของเรา และช่วยให้ทีมงานของเราเข้าใจว่าส่วนใดของเว็บไซต์ที่คุณพบว่าน่าสนใจและมีประโยชน์มากที่สุด
เกี่ยวกับเรา
ประวัติองค์การคลังสินค้า
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพได้มีราคาโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการหามาตรการแก้ไขโดยรีบด่วน ในการนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งหอคลังสินค้ากลางในสังกัดของกรมการค้าภายในขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2485 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการรักษาระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดมิให้สูงขึ้นจนเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป
ปี พ.ศ. 2487 หอคลังสินค้ากลางได้เปลี่ยนชื่อเป็น”คลังสินค้ากลาง” และได้ยกฐานะเป็นกองคลังสินค้าในปีเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง กองคลังสินค้าได้ทำหน้าที่รับซื้อและจำหน่ายสิ่งของ เช่น ผ้า เครื่องมือทางการเกษตร ยารักษาโรค ซึ่งรัฐบาลได้สั่งซื้อมาจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วราชอาณาจักรในราคาย่อมเยา และสั่งซื้อสินค้าที่จำเป็นแก่การครองชีพมาขายให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อตรึงราคาและรักษาระดับราคาสินค้าในท้องตลาดมิให้สูงขึ
ปี พ.ศ. 2497 กระทรวงพาณิชย์ (เดิมชื่อกระทรวงเศรษฐการ) เล็งเห็นว่าภารกิจด้านคลังสินค้ามีความสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตร จึงได้มีนโยบายให้ขยายคลังสินค้าให้กว้างขวางออกไป โดยจัดตั้งฉางข้าวและคลังสินค้าเพื่อใช้เป็นสถานที่รับซื้อ จัดเก็บ รับฝากข้าวและพืชผลทางการเกษตร เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตและเป็นศูนย์กลางทางการค้าของบริษัทจังหวัด วันที่ 20 เมษายน 2498 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “องค์การคลังสินค้า” ตามข้อเสนอของกระทรวงเศรษฐการ (กระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้การปฏิบัติงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับธุรกิจเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์คือ “ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับข้าว พืชผลและสินค้าต่างๆ เพื่อให้จำนวนผลิต คุณภาพ ราคา เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของรัฐและประชาชนทั่วไป” และได้โอนทรัพย์สิน สิทธิ ความรับผิดชอบ ธุรกิจ ตลอดจนพนักงานกองคลังสินค้ามาด้วย ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้ากำหนดวัตถุประสงค์ ในการจัดตั้งใหม่คือ”ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค” เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
องค์การคลังสินค้าได้รับโอนที่ดินและทรัพย์สินของโรงงานกระสอบ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524 โดยองค์การคลังสินค้าจ่ายชำระหนี้ของโรงงานกระสอบป่าน เป็นจำนวนเงิน 90 ล้านบาท แต่เนื่องจากที่ดินที่ตั้งโรงงานกระสอบเป็นของกรมธนารักษ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงส่งคืนที่ดินให้กรมธนารักษ์ แล้วให้องค์การคลังสินค้าทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ในอัตราที่ต่ำ ทรัพย์สินที่ได้รับโอนประกอบด้วยที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 47 ไร่เศษ คลังสินค้า 10 หลังและอาคารที่ทำการ 1 หลัง องค์การคลังสินค้าได้ใช้ประโยชน์ในการเก็บสินค้าทั้งขององค์การฯ และให้เอกชนเช่า โดยใช้ชื่อว่า “คลังสินค้า 3 นนทบุรี” ค่าเช่าที่จ่ายให้กรมธนารักษ์ ปีละ 264,240.00 บาท
สถานที่ทำการขององค์การคลังสินค้า ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โดยที่ทำการส่วนหนึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อกับกรมการค้าภายใน แต่เนื่องจากบริเวณที่ทำการเดิมอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งภาครัฐมีนโยบายที่จะอนุรักษ์และพัฒนา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2531 ให้ย้ายหน่วยงานราชการในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ออกไป ทั้งนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ด้วย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2532 ให้กระทรวงพาณิชย์ใช้ที่ดินบริเวณคลังสินค้า 3 นนทบุรีขององค์การคลังสินค้า จำนวนเนื้อที่ประมาณ 47 ไร่เศษ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการรวมทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่โครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2542 และโครงการระยะที่ 2 แล้วเสร็จในปี 2546 และองค์การคลังสินค้าได้ย้ายที่ทำการมายังสำนักงานแห่งใหม่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2546 ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 563 ถนนนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โทร. 0 2507 5000